พิพิธภัณฑ์บรรพชน ศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์

ศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ไม่ว่าจะเป็นศาสตราวุธ เงินตรา หรือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของชุมชนบ้านหลวงนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 บ้านหลวง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 3 หลัง จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในชุมชนบ้านหลวง ได้แก่ เรือนพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วย เรือนพิพิธภัณฑ์ผ้า และเรือนพิพิธภัณฑ์เฮือนหลวงมหาวรรณ์  สามารถเข้าเยี่ยมชมโดยแบ่งลำดับตามช่วงอายุของสิ่งของที่จัดแสดงได้ ดังนี้ หนึ่ง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สอง ยุคประวัติศาสตร์ สาม ยุคการตั้งชุมชน โดยในแต่ละยุคจะแบ่งสิ่งของจัดแสดงออกเป็นหมวดหมู่สำคัญคร่าว ๆ เช่น วิถีชีวิตและภูมิปัญญา ความเชื่อและศาสนา เงินตรา การค้าขาย และข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น

 เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เฮือนหลวงมหาวรรณ์แบบเสมือนจริง  

 มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าแบ่งตามบุคคลสำคัญ  

1. ท้าวคำปิง

ต้นตระกูลมหาวรรณ์ เป็นผู้นำชุมชน ได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็นผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น มีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นผู้คล้องช้างถวายเจ้าเมืองในขณะนั้น คือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7   (https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/11163/
ท้าวคำปิง มีทายาทสืบวงศ์ตระกูลต่อมา ได้แก่  
  1. แสนแอ (รุ่นที่ 2)
  2. อุ๊ยจี๋ (รุ่นที่ 3) 
  3. อุ๊ยปั๋น (รุ่นที่ 4) 
  4. พ่อ (รุ่นที่ 5) บิดาของพระอาจารย์ 
  5. พระอาจารย์ (รุ่นที่ 6)  

ข้าวของเครื่องใช้ของท้าวคำปิง

  • เชือกคล้องช้าง ของท้าวคำปิง  

เชือกคล้องช้างหรือเชือกปะกำ ทำจากหนังควาย ๓ เส้น นำมาฟั่นให้เป็นเกลียวแข็งแรง และนำไปปลุกเสกด้วยคาถาอาคมต่าง ๆ เพื่อให้เชือกปะกำนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เหมาะกับการคล้องช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดและมีบารมีมาก  

  • ขอสับช้าง ของท้าวคำปิง  

ขอช้าง หรือขอสับช้าง มีส่วนประกอบเป็นด้ามจับยาวและมีจะงอยคมยื่นออกมาเพื่อ “สับ” ตรงศีรษะของช้างเพื่อควบคุมให้ช้างเชื่อฟัง เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในงานคชกรรม คือคนเลี้ยงช้างใช้ขอสับช้างนี้ในการควบคุมช้างที่เลี้ยงไว้ ในปัจจุบันนี้ขอช้างเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่มีคนบูชาไว้ในบ้าน ขอสับช้างที่มีในบ้านหลวงนี้ด้ามจับทำจากไม้ไผ่และเหล็กกล้า เนื่องจากท้าวคำปิงได้รับมอบหมายจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้นให้เป็นผู้คล้องช้าง จึงมีขอช้างนี้ไว้ในครอบครองด้วย  

  • ดาบหลูบเงิน ของเท้าคำปิง

ดาบหลูบเงินของท้าวคำปิง ในพิพิธภัณฑ์บ้านหลวงมีสองด้าม ดาบหลูบเงินทั้งสองด้ามนั้น ตัวดาบทำมาจากเหล็ก ฝักดาบทำมาจากไม้หุ้มเงิน ด้ามหนึ่งพันด้วยเชือกขาวเปื้อนดำ ด้ามหนึ่งพันด้วยเชือกหวาย ดาบหลูบเงินเป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือของช่างหลูบเงิน ซึ่งเป็นช่างล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงหนึ่งที่เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมดาบ หรือประดับดาบ ทั้งฝักดาบ หรือด้ามดาบ อนึ่งการครอบครองดาบซึ่งเป็นอาวุธอย่างหนึ่งนี้ถือเป็นการแสดงอำนาจและฐานะของผู้ปกครองในท้องถิ่นสมัยก่อน เนื่องด้วยโลหะเงินแท้เป็นของมีค่า หากไม่มีฐานะย่อมไม่สามารถซื้อหาหรือครอบครองได้ ดังนั้นท้าวคำปิงที่เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านหลวงจึงมีดาเงินไว้ในครอบครอง 

  • พระมาลา   

พระมาลา เป็นเครื่องประดับศีรษะอย่างหนึ่ง มีลักษณะวงกลม และมียอดสูงคล้ายระฆัง ทำจากทองคำ หรือหนังกระบือ มักสลักลวดลายอาคม หรือลวดลายวิจิตรสวยงามต่าง ๆ ลงไปบนตัวพระมาลาด้วย พระมาลานี้ถือเป็นเครื่องแสดงยศของชนชั้นปกครอง หรือชนชั้นเจ้านายที่เป็นนักรบ เมื่อออกรบจะแต่งเครื่องยศนี้เพื่อแสดงตนว่าเป็นผู้นำ  

  • แตรงาช้าง  

แตรงาช้าง หรือกอยงาช้าง ทำมาจากงาช้าง ใช้ในการเป่าเพื่อเรียกชุมนุมคนในชุมชนสมัยนั้น เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือใช้ในการกระจายเสียงหรือบอกกล่าวอย่างปัจจุบัน อีกทั้งผู้คนในชุมชนยังปลูกที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กัน ดังนั้นอุปกรณ์ที่ผู้นำชุมชนสามารถนำมาใช้ในการเรียกชุมนุมชนจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว เช่น แตรงาช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ แตรงาช้างยังใช้เป่าในการเลี้ยงผีปะกำและพิธีกรรมการเลี้ยงเชือกคล้องช้างอีกด้วย อนึ่ง ดาบหลูบเงินก็ดี พระมาลาก็ดี แตรงาช้างก็ดี ล้วนเป็นเครื่องแสดงยศของท้าวคำปิง ผู้ที่ถือว่าเป็นชนชั้นปกครองในสมัยนั้น  

2. พระยาคำ

เรือนหลวงมหาวรรณ์ จำลองมาจากเรือนของพระยาคำ ซึ่งเป็นญาติทางฝั่งแม่ รุ่นที่ 4 ของพระอาจารย์ เรือนหลวงมหาวรรณ์ได้จำลองข้าวของเครื่องใช้ในห้องนอนของพระยาคำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดวางสิ่งของหรือของใช้ที่สามารถพบได้ในห้องนอนของชนชั้นปกครองของบ้านหลวงในอดีต  

ข้าวของเครื่องใช้ของพระยาคำ

  • เสื่อพระยาคำ  

3. พ่ออุ๊ยน้อยจักร

พ่ออุ๊ยน้อยจักร เป็นคนพร้าว โหล่งขอด ได้ร่วมไปในกองทัพที่ไปรบกับพระยาขาบ เมื่อ พ.ศ.2413 เนื่องจากพ่ออุ๊ยน้อยจักรได้ไปรบนี้เอง จึงแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพ่ออุ๊ยโดยเน้นไปที่เครื่องรางของขลังในการป้องกันตัวเมื่อออกรบ โดยได้จัดแสดงชุดยันต์ของพ่ออุ๊ยน้อยจักร สิ่งของในชุดยันต์ที่น่าสนใจคือ ผ้าปกคิง คำว่า “คิง” ในภาษาล้านนาหมายถึงร่างกาย ดังนั้นผ้าปกคิงจึงหมายถึงผ้ายันต์ที่สวมใส่ร่างกายเพื่อเป็นยันต์ป้องกันอันตราย ไม่ว่าตอนเดินทางไกล หรือตอนไปรบหากมีผ้าปกคิง หรือผ้ายันต์ก็เชื่อกันว่าสามารถป้องกันอันตรายได้ 

ข้าวของเครื่องใช้ของพ่ออุ๊ยน้อยจักร

  • เครื่องสักพม่า  

สิ่งของที่จัดแสดงอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์และคาถาอาคมต่างๆ คือการสัก การสักยันต์ในสมัยโบราณนั้นเชื่อว่าเป็นการสักคาถาอาคมไว้บนร่างกาย หากยันต์นั้นศักดิ์สิทธิ์จะฟันแทงไม่เข้า ในหมู่นักเลงท้องถิ่นหรือหมู่โจรผู้ร้าย มักนิยมสักยันต์เพื่อป้องกันอาวุธ ดังนั้นอุปกรณ์ในการสักยันต์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งในขณะสักยันต์ หมอสักยันต์จะต้องท่องคาถาอาคมไปด้วย เพื่อให้ยันต์ที่สักออกมานั้นมีอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ ชุดเครื่องสักที่จัดแสดงในเรือนหลวงมหาวรรณ์นี้เป็นชุดเครื่องสักจากประเทศพม่า   

  พระพุทธรูป  

องค์ที่ 2 (นับจากทางขวา) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ แสดงถึงเหตุการณ์ตอนใกล้ตรัสรู้เมื่อพญามารมาผจญ เป็นพระพุทธรูปสำริด  

องค์ที่ 4 (นับจากทางขวา) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์ทั้งสองหงายซ้อนกันพบพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย แสดงถึงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธรูปสำริด 

 เครื่องเขินที่จัดแสดงในเรือนหลวงมหาวรรณ์  

เครื่องเขินที่จัดแสดงในเรือนหลวงมหาวรรณ์นี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการค้าขาย หรือซื้อหาจากตลาดหรือแหล่งซื้อขายเครื่องเขินในเมืองเชียงใหม่

  • ชุดเชี่ยนหมาก

การกินหมากเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย แพร่หลายทุกภาคของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันการกินหมากนี้หาได้ยากแล้ว ชุดเชี่ยนหมากที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านหลวง ฐานทำจากไม้ไผ่ลงรักชาด (สีแดง) ส่วนเครื่องใช้ (แอ๊บ) ด้านบนทำจากเงิน  

  • สลุงเงิน

สลุงเงินเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สำคัญอย่่างหนึ่งในวัฒนธรรมล้านนา สลุงใช้เป็นในการใส่ข้าวของไปทำบุญที่วัด หรือใส่น้ำ ในเทศกาลสงกรานต์จะใช้สลุงใส่น้ำขมิ้น น้ำส้มป่อยเมื่อไปทำบุญที่วัด คำว่า “สลุง” เป็นภาษาล้านนา หมายถึงภาชนะใส่น้ำ มักทำจากโลหะเงิน สลุงเงินที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านหลวงนี้ได้รับบริจาคจากผู้มีฐานะในชุมชนบ้านหลวงที่ได้จากการซื้อหามา 

  • ้วยชาม

้วยชาม ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในหมวดถ้วยชามในพิพิธภัณฑ์บ้านหลวงนี้ ขุดพบในบริเวณชุมชนบ้านหลวงเอง ทั้งจากบริเวณริมน้ำ และจากวัดเก่าในชุมชนบ้านหลวง

  • ขวานหิน

ขวานหินที่จัดแสดงนี้ ได้มาจากการขุดพบเจอในบริเวณชุมชนบ้านหลวง ได้แก่ ขวานหินกะเทาะ ขวานหินชนิดมีบ่า (หรือเสียมตุ่น เนื่องจากชาวบ้านค้นพบขวานหินชนิดนี้ในป่า และเชื่อว่าตัวตุ่นขุดขวานหินนี้ขึ้นมา จึงเรียกว่าเสียมตุ่น) ขวานหินสำริด (หรือตองฟ้าผ่า) ขวานหินสำริดนี้ยังนำไปใช้ในการแพทย์ คือทำ “กัวซา” หรือการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบชาวบ้านอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ขวานหินสำริดยังถูกนำมาแขวนไว้หน้าบ้านหรือตัวบ้าน เนื่องจากขวานหินสำริดมีอีกชื่อหนึ่ง ตองฟ้าผ่า จึงเชื่อว่าสามารถป้องกันภยันตรายหรือภูตผีปีศาจได้   

  • ูกเป้ทำจากสำริด 

ลูกเป้งรูปสิงห์เป็นอุปกรณ์เครื่องชั่งในการค้าขายในอดีต ลูกเป้งจะถูกตีตราเพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและน้ำหนักของลูกเป้ง ลูกเป้งจะบรรจุอยู่ในถุงลูกเป้งเพื่อสะดวกในการเก็บและเคลื่อนย้าย ลูกเป้งรูปสิงห์มีหลายขนาดต่าง ๆ กัน และอยู่ในอิริยาบทต่าง ๆ เช่น ลูกเป้งรูปสิงห์ยืนสี่ขา ลูกเป้งรูปสิงห์ย่อขาหลัง เป็นต้น

ลูกเป้งรูปช้างเป็นอุปกรณ์เครื่องชั่งในการค้าขายในอดีต ลูกเป้งจะถูกตีตราเพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและน้ำหนักของลูกเป้ง ลูกเป้งจะบรรจุอยู่ในถุงลูกเป้งเพื่อสะดวกในการเก็บและเคลื่อนย้าย 

  • เครื่องชั่ง  

เครื่องชั่งที่จัดแสดงนี้เป็นเครื่องชั่งตวงที่ใช้ในการค้าขายสมัยก่อน โดยเครื่องชั่งนี้จะวัดน้ำหนักจากลูกเป้ง โดยนำลูกเป้งมาวางบนจานรองด้านหนึ่ง และนำสินค้าที่ต้องการซื้อขายวางบนจานรองอีกด้านหนึ่ง เมื่อจานรองทั้งสองอยู่ในระนาบเดียวกันก็จะสามารถรู้ถึงน้ำหนักของสิ่งของเหล่านั้นได้ การค้าของล้านนาในสมัยก่อนที่ทำผ่านเครื่องชั่งประเภทนี้จะเป็นสินค้าประเภท อัญมณี หรือพืชผักในตลาด

ชุดเครื่องชั่งพกพาเป็นชุดเครื่องชั่งที่สามารถพกพาไปด้วยในขณะที่พ่อค้าล้านนาในสมัยก่อนเดินทางไปค้าขายในต่างเมือง 

  • ุงใส่ลูกเป้ง   

เป็นถุงผ้าถักจากเส้นด้ายชนิดต่าง ๆ โดยถักเป็นรูปร่างและสีสันต่าง ๆ กัน ใช้ประโยชน์ในการเก็บลูกเป้งขณะนำลูกเป้งไปประกอบในการค้าขาย เช่น การชั่งผักในตลาด ชั่งเพื่อซื้อ-ขายอัญมณี เป็นต้น 

  • ูยาดิน

หรือกล้องยาสูบล้านนาโบราณ ประดับด้วยลายสลักดอกบัว เป็นเครื่องใช้ดินเผาขุดเจอในชุมชนบ้านหลวง เป็นเครื่องใช้ที่แสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งในแง่ของการดำรงชีวิต และศิลปะช่างผลิตเครื่องใช้  

  • กระดิ่งวัวกระดิ่งควาย 

กระดิ่งวัวควาย เป็นอุปกรณ์ใช้งานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ใช้ผูกกับเชือกเพื่อคล้องคอโคหรือกระบือ เพื่อแสดงว่าโคหรือกระบือนั้น ๆ มีเจ้าของ และเพื่อความสะดวกในการเลี้ยงโคกระบือเป็นฝูง วัสดุที่ใช้ในการทำกระดิ่งที่พบมีทั้งไม้และโลหะ 

Scroll to Top