บ้านหลวง เป็นชุมชนที่มีการตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณคือ “เมืองป๊าว” หรือเมืองพร้าวในปัจจุบันมีวัดร้างและชุมชนโบราณอยู่มากมายหลายสิบแห่ง รอบบริเวณชุมชนมีการค้นพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น ขวานหิน หินแกะโบราณ ลูกปัดหิน ฯลฯ 

ในอดีตจนถึงปัจจุบันชุมชนบ้านหลวงถือได้ว่าเป็นเส้นทางหลักสายสำคัญในการเดินทางเข้า-ออกอำเภอพร้าว ใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ตลอดจนใช้ในการติดต่อค้าขายกับอำเภออื่นๆ ประกอบกับพื้นที่ในชุมชนมีขนาดกว้างใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่มาก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหลวง ชื่อของหมู่บ้านนั้นนัยหนึ่งอาจจะมีที่มาจากชื่อของ “ดอยหลวง” ภูเขาลูกใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ทอดตัวยาวมีลักษณะคล้ายพระนอเป็นจุดติดตั้งระบบโทรคมนาคม หรืเรดาห์รับคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ 

ที่ตั้งบ้านหลวง

 ชุมชนบ้านหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอพร้าว สมัยก่อนใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายทางบ้านแม่ขะจาน และตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า พื้นที่ชุมชนเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ มีอาณาเขตทั้งหมดรวมถึงพื้นที่ในการเพาะปลูกทางการเกษตรกว้างขวางที่สุดในตำบลเดียวกัน ตลอดจนมีประชากรมากที่สุดเช่นกัน 

สภาพทั่วไปของพื้นที่

บ้านหลวง มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาและบางส่วนเป็นภูเขา ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีแม่น้ำไหลผ่านเหมาะแก่การอยู่อาศัยและการเพาะปลูก เป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรม และมีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน คือ แม่น้ำแม่ตายละ และลำห้วยต่างๆ ไหลผ่าน ได้แก่ 

  1. ห้วยข้าวหลาม, ห้วยไร่, ห้วยหก, ห้วยป่าลัน, ขุนขอด ซึ่งเป็นลำห้วยไหลมาบรรจบลงสู่แม่น้ำขอด
  2. ห้วยเกี๊ยะตน, ห้วยขอนกว้าง, ห้วยป่าเฮี้ยะหลวง, ห้วยประตู-ผา เป็นลำห้วยไหลมาบรรจบลงสู่ห้วยตองหนาม
  3. ห้วยป่าแขม, ห้วยบวกเต่า, ห้วยผาผึ้ง เป็นลำห้วยไหลมาบรรจบสู่ห้วยหอย
  4. ห้วยหก, ห้วยคั่ง เป็นลำห้วยไหลมาบรรจบลงสู่ห้วยฆ้อง
  5. ปางสนุก, ห้วยมะหลอด, ห้วยปูแกง, ห้วยเคียะ, ห้วยลึก, ห้วยป่าคา เป็นลำห้วยไหลมาบรรจบสู่แม่นํ้าตายละ

พื้นที่ของบ้านหลวงทั้งหมดมีลําห้วยไหลผ่านครอบคลุมทั่วทุกทิศ กล่าวคือ ด้านทิศใต้มีห้วยป่าลัน,ห้วยเติม, ห้วยเฮี้ยะ ด้านทิศตะวันออก มีแม่น้ำขอด ด้านทิศตะวันตกมีห้วยป่าไร่, ห้วยเคี่ยน, ห้วยปู่เยือง, ห้วยบะกิ้ง, ห้วยเฮี้ยะ, ห้วยหก ยกเว้นแต่เพียงทิศเหนือเท่านั้นที่ไม่มีลำห้วยไหลผ่านเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ 

ลักษณะภูมิอากาศ

เป็นลักษณะแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้มีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคม และเริ่มมีอากาศหนาวเย็นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มมีอากาศร้อนอบอ้าวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน ทั้งนี้ในแต่ละปีลักษณะภูมิอากาศอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะอากาศโดยรวมของภูมิภาค

ลักษณะทางประชากร

บ้านหลวง หมู่ที่ 6 ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีครัวเรือนจำนวน 304 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 707 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 384 คน และเพศหญิง จำนวน 323 คน (ข้อมูลจาก จปฐ. ปี 2560 อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยทำการ ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง มะม่วง และลำไย นอกจากนี้ยังเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู ปลา วัว และควาย ส่วนอาชีพรองลงมา คือ ค้าขายและรับจ้าง

ครัวเรือน

ครัวเรือน
0

ประชากรทั้งหมด

คน
0

ผู้ชาย

คน
0

ผู้หญิง

คน
0

จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2560

Scroll to Top