วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล

วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.โหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยคงแบบฉบับแบบล้านนาเดิม ในพระวิหาร มีหลวงพ่อเศรษฐี เป็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ศิลปะล้านนา เชียงแสน สิงห์สาม ปางโปรดพญาชมพูบดี พุทธศิลป์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช อายุ 600 ปี ด้านนอกประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์มหาจักรพรรดิมุนีศรีดอยเวียง ทรงเครื่องกษัตริย์ศิลปะล้านนาโบราณ ขนาดความกว้าง 3 เมตร ความยาว 23 เมตร ความสูง 10 เมตร หรือเรียกอีกอย่างว่า ปางโปรดอสุรินทราหู มีลักษณะอิริยาบถนอนตะแคง พระบาททั้ง 2 วางทอดยาวซ้อนเสมอกัน พระบาทซ้ายวางทับพระบาทขวา พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งประคองพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายวางแนบไปกับพระวรกาย พระเขนยจะอยู่ใต้พระกัจฉะ (หมอน) ในบริเวณเดียวกัน เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ของเก่าโบราณล้านนา ซึ่งด้านในได้มีการเก็บของที่ขุดพบบริเวณวัดเมื่อครั้งมาค้นพบและบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ในบริเวณนี้ ยังมีองค์พระธาตุสีทองซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระบรมสารีริกธาตุพระมหาธาตุดอยเวียงชัยมงคล ด้านหน้าเจดีย์องค์ใหญ่ มีเจดีย์ทันใจที่สร้างจากอิฐเก่าที่เคยใช้สร้างพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลองค์เดิมเมื่อ 700 ปี

ทั้งนี้ยังมีจุดชมวิว ซึ่งได้ประดิษฐ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระญามังรายมหาราช พระมหากษัตราธิราชแห่งล้านนาประเทศ มีเรื่องเล่าว่าขณะที่พระองค์ทรงปกครองเมืองฝางอยู่ (อำเภอฝาง) ได้ทรงทราบว่าเมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูน) มีความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร จึงยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย ระหว่างทางเดินทัพได้ผ่านมาทางเมืองแจ้สัก ทรงแวะพักกองทัพและทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดี จึงทรงสร้างเมืองหนึ่งขี้นเมื่อปี พ.ศ 1824 จ.ศ. 643 ให้ชื่อว่า “เมืองพร้าววังหิน” ซึ่งเป็นเมืองที่สงบร่มเย็นและเป็นเมืองเก่าที่ทรงสร้างก่อนเมืองเชียงใหม่ถึง 15 ปี หลังจากนั้นพระญามังรายได้สร้างวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลแห่งนี้ เป็นเพื่อพระธาตุหลักบ้านแดงเมือง เพราะวัดตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีมองเห็นภูมิทัศน์ได้โดยรอบ ตลอดจนได้สร้างเป็นประตูเมืองและเมืองหน้าด้านของเมืองพร้าว ปัจจุบันนี้ยังปรากฎหลักฐาน คือ องค์พระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ซึ่งเป็นพระธาตุโบราณที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอพร้าว วิหารล้านนา 1 หลัง แนวกำแพงโบราณที่ขุดรอบวัด 4 ชั้น ณ จุดชมวิว สามารถมองเห็นตัวอำเภอพร้าวได้อย่างชัดเจน นอกจากพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลแล้ว และในบริเวณใกล้เคียง ยังมีพระธาตุม่วงเนิ้ง และพระธาตุสามเหลี่ยม เรียกพระธาตุทั้งสามว่า พระธาตุสามดวง จากคำบอกเล่า ของพระอินชัย สุวรรณจาโร ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก ได้ไปทำนากับพ่อ แล้วต้องไปนอนเฝ้าที่ทุ่งนา พอตกดึกพ่อเรียกให้ลุกขึ้นมาดูดวงไฟที่ท่านเรียกให้ลุกขึ้นมาดูพระธาตุจากพระธาตุม่วงเนิ้ง ไปเยี่ยมพระธาตุดอยเวียง โดยปรากฏเป็นดวงไฟสีเขียวชอุ่ม ดูชุ่มเย็น ลอยจากพระธาตุม่วงเนิ้งไปลงที่พระธาตุดอยเวียง ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า พระธาตุทั้งสามองค์ จะมีการไปมาหาสู่กัน เหมือนเป็นพี่น้องกัน

Scroll to Top